ปัญญา

Published on

Authored by Pete. Pittawat Taveekitworachai.


ปัญญา หรือในภาษาอังกฤษ wisdom น่าจะเป็นคำที่หลาย ๆ คนคุ้นหูกันเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นที่น่าสงสัยสำหรับผู้เขียนเอง ถึงความหมายที่แท้จริงของคำ ๆ นี้ หลากหลายคำถามเกิดขึ้นมา ปัญญาคืออะไร? ปัญญาต่างไปอย่างไรกับความรู้?​ เราสามารถจัดประเภทของปัญญาได้รึเปล่า?

ในบทความนี้ ผู้เขียนเองจะขอพาทุก ๆ คนไปหาคำตอบของถามเหล่านั้นกัน

Disclaimer: บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น


ปัญญาคืออะไร? (What is wisdom?)

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ได้ให้ความหมายของคำว่าปัญญาไว้ว่า

น. ความรอบรู้, ความรู้ทั่ว, ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด, เช่น คนมีปัญญา หมดปัญญา. (ป.).

อ้างอิง: พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔

จะเห็นได้ว่าปัญญาในความหมายนี้นั้น ไม่ใช่เพียงแค่ความรู้ธรรมดาทั่วไปเท่านั้น แต่เป็น ความรอบรู้ความรู้ทั่ว**

เราสามารถถอดความหมายโดยนัยของคำนิยามดังกล่าวออกไปได้ว่าคำว่าปัญญานั้นมีลักษณะของการรู้ที่สมบูรณ์กว่าความรู้โดยทั่วไป นั่นคือเราไม่ได้รู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นเพียงแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งเท่านั้น

ในอีกความหมายหนึ่ง ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด ในความหมายนี้นั้นให้ที่มาของปัญญาได้อย่างน่าสนใจว่า ปัญญานั้นเป็นความฉลาดอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสามารถเกิดมาได้จากการเรียนและการคิด นั่นหมายความว่าปัญญาเองมีลักษณะที่ถ่ายทอดกันได้ เพราะเราสามารถเรียนได้ และปัญญาเองก็เกิดขึ้นมาจากความคิดของเราเองได้เช่นกัน


ปัญญาเป็นที่เราสามารถถ่ายถอดได้หรือไม่? (Is it transferable?)

ลองมาดูอีกมุมมองหนึ่งของปัญญาจากพจนานุกรมต่างประเทศกันบ้าง โดยผู้เขียนเองได้เลือก Oxford Learner’s Dictionaries มาในทีนี้โดย ได้ให้ความหมายของปัญญาไว้ว่า

(noun) the ability to make sensible decisions and give good advice because of the experience and knowledge that you have

อ้างอิง: Oxford Learner’s Dictionaries

จะเห็นได้ว่าความหมายนี้นั่นค่อนข้างน่าสนใจ เราสามารถแบ่งมันออกมาได้เป็นสองส่วน

  1. the ability to make sensible decisions

นั่นหมายความว่าปัญญานั้น คือการตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผล นั่นหมายความว่า คนที่จะมีภูมิปัญญาในเรื่องนั้น ๆ ต้องมีเหตุผลมารองรับการตัดสินใจของตนเอง

  1. (the ability to) give good advice because of the experience and knowledge that you have

ส่วนในความหมายนี้นั้น ปัญญานั้นอาจบอกเล่าในอีกแง่มุมหนึ่งได้ถึงการที่สามารถมอบคำแนะนำ ซึ่งเกิดจากประสบการณ์หรือความรู้ที่ตนมี จะเห็นได้ว่าในความหมายนี้นั้นค่อนข้างน่าสนใจ เพราะนั่นหมายความว่าคำแนะนำที่เราสามารถมอบให้กันได้นั้นจัดได้ว่าเป็นปัญญาเช่นกัน แน่นอนว่านิยามนั้นไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าเมื่อปัญญาถูกถ่ายทอดออกไปแล้ว ผู้รับสารนั้นจะสามารถสร้างเป็นปัญญาของตนได้หรือไม่

แน่นอนว่าต่างคนคงต่างนิยามกันออกไป ส่วนตัวผู้เขียนเองขอให้คำนิยามไว้ง่าย ๆ ดังนี้ว่า

ปัญญา คือ ความรู้ที่ตนเชี่ยวชาญ และสามารถแบ่งปันให้กับผู้อื่นได้

หากปัญญานั้นไม่สามารถแบ่งปันให้กับผู้อื่นได้ก็คงไม่อาจเกิดประโยชน์อันใดขึ้นมา การแบ่งปันของปัญญานั้นเองอาจจะอยู่ในรูปแบบของความไม่ตั้งใจได้เช่นกัน เช่น การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ แล้วเกิดการพัฒนาต่อยอด (build on top) นวัตกรรมนั้น ๆ ออกมา


ปัญญาต่างไปอย่างไรกับความรู้? (Wisdom vs Knowledge)

หากต้องการจะตอบคำถามนี้อย่างแน่ชัด คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องยกนิยามของทั้งสองคำมาเปรียบเทียบกัน ความรู้ (Knowledge) ปัญญา (Wisdom)(noun) the information, understanding and skills that you gain through education or experience(noun) the ability to make sensible decisions and give good advice because of the experience and knowledge that you have อ้างอิง: Oxford Learner’s Dictionaries

เป็นที่น่าสนใจว่าความรู้นั้นถูกให้นิยามไว้ว่า คือ ข้อมูล ความเข้าใจ และทักษะ ที่สามารถได้รับผ่านการเรียนหรือประสบการณ์ จะเห็นได้ว่านิยามนี้นั้นค่อนข้างใกล้เคียงกับความหมายของปัญญาในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔

โดยสรุปแล้วเราอาจตอบคำถามข้างต้นได้ว่าความรู้เป็นสิ่งที่เรารู้ ส่วนปัญญาเป็นความสามารถในการตัดสินใจและการให้คำแนะนำนั่นเอง


เราสามารถจัดประเภทของปัญญาได้รึเปล่า? (Do the wisdom have category?)

An old book store from the city of Bilbao.

มีงานวิจัยหลากหลายชิ้นที่พยายามศึกษาเกี่ยวกับปัญญาของมนุษย์ และนักวิจัยหลาย ๆ ท่านเองก็พยายามจัดประเภทของปัญญาเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นเองก็นำเสนอคำที่ค่อนข้างน่าสนใจ นั่นคือคำว่า Sophia และ Phronesis

  • Sophia คือ ปัญญาโดยทั่ว ๆ ไป หรือปัญญาที่มีลักษณะเป็นนามธรรม อาจจะเป็นความรู้ ความเข้าใจในเรื่อง ๆ หนึ่ง หรือเป็นสิ่งที่ต่อยอดมาจากความรู้ (Knowledge)
  • Phronesis คือ ปัญญาที่สามารถนำไปใช้ได้จริง คำว่าใช้ได้จริงในที่นี้นั่นถอดความาจากคำว่า practical นั่นคือปัญญาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ

เพื่อให้ง่ายอาจเทียบได้ว่า Sophia นั่นเป็นปัญญาที่เกี่ยวจากฐานความรู้ และ Phronesis เป็นปัญญาที่เกิดจากประสบการณ์จริง (แน่นอนว่าคำนิยามนี้นั่นไม่ได้ถูกต้องอย่าง 100% เป็นเพียงการ simplify สิ่งต่าง ๆ ลงเท่านั้น)

ซึ่งบางท่านอาจมีการถกเถียงว่าปัญญาประเภท Phronesis นั้นมีประโยชน์การปัญญาประเภท Sophia อย่างไรก็ตามส่วนตัวของผู้เขียนเองแล้วนั้นเชื่อว่าปัญญาทั้งสองประเภทก็เป็นเพียงการแบ่งประเภทของมนุษย์เท่านั้น และจำเป็นในบริบทที่ต่างกันด้วยทั้งคู่ และสำคัญที่สุดว่ามีปัญญานั่นย่อมดีกว่าไม่มีปัญญา ขอปัญญาจงบังเกิดแก่ทุกท่าน


📚 Hope you enjoy reading! 📚