Dogfooding: หนึ่งในรูปแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่จะช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราดียิ่งขึ้น

Published on

Authored by Pete. Pittawat Taveekitworachai.


โลกของการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการในปัจจุบันนั้นมีแนวคิดต่าง ๆ เกิดขึ้นใหม่มากมาย เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น Dogfooding ก็เป็นหนึ่งในแนวคิดเหล่านั้นเช่นกัน


Eating your own dog food

Dogfooding หรือ Eating your own dog food เป็นคำศัพท์ที่สื่อถึงการที่องค์กรนั้น ๆ ใช้งานผลิตภัณฑ์หรือบริการของตนเองในชีวิตประจำวัน (สถานการณ์จริง)​ เปรียบได้กับบริษัทผลิตอาหารสุนัข ที่หากไม่นำไปทดสอบด้วยตัวเองแล้วก็ไม่มีทางรู้เลยว่ามันจะเป็นอย่างไร และได้แต่หวังว่าเมื่อลูกค้าซื้อไปให้สุนัขของตนแล้วผลตอบรับจะดี

คำ ๆ นี้นั้นจะไม่รวมถึงการจำกัดการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของบริษัทคู่แข่งในองค์กร เช่น Coca-Cola อาจไม่อนุญาตให้พนักงานในองค์กรของคนเองดื่ม Pepsi ตัวอย่างที่ยกไปนั้นถือว่าไม่เป็น Dogfooding

Inspired by the light

เนื่องจากว่าคำว่า Dogfooding นั้นอาจจะไม่น่าฟังนัก ก็ได้มีคนเสนอคำอื่น ๆ มาใช้อีกมากมาย เช่น Drinking our own champange, Icecreaming, Eating your own cooking ก็ให้เลือกใช้กันได้ตามสะดวก แต่ยังคงไอเดียเดิมเอาไว้

ข้อดีหลัก ๆ ของการนำหลักการนี้ไปใช้ คือ เราจะเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าผู้ใช้ของเรานั้นต้องพบเจอกับอะไรบ้างระหว่างการใช้งาน รวมไปถึงความรู้สึกว่ายังขาดอะไรไปอีกเพื่อนำมาพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของเราดียิ่งขึ้น นอกจากนี้หากเกิดกรณีที่มีข้อผิดพลาดเรายังสามารถรู้ตัว และแก้ไขได้ก่อนอีกด้วย

ในอีกมุมมองหนึ่ง วิธีการนี้ยังเปรียบได้กับสวัสดิการอย่างหนึ่งให้กับพนักงานของตนเองอีกด้วย ด้วยให้การใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการขององค์กรตนเองได้ฟรี หรือราคาที่ถูกกว่าราคาปกติ


ตัวอย่างองค์กรที่นำไปใช้: Apple

Searching

Apple ขึ้นชื่อในเรื่องของการให้พนักงานใช้ผลิตภัณฑ์ของตนเองมาก ทั้งการมอบส่วนลดต่าง ๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้พนักงานซื้อผลิตภัณฑ์ของตนเอง ซึ่งถ้าเป็นพนักงานขายก็จะเข้าใจความรู้สึกของลูกค้า และเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ดียิ่งขึ้น หรือหากเป็นนักพัฒนาก็จะสามารถระบุข้อผิดพลาดต่าง ๆ หรือสิ่งที่สามารถนำไปเพิ่มเพื่อพัฒนา Software ให้ดียิ่งขึ้นได้เช่นกัน


ข้อควรระวัง

แม้ว่าวิธีนี้จะมีข้อดีมากมาย แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องระวังโดยเฉพาะในเรื่องของ Bias ที่อาจเกิดขึ้นได้จากคนที่พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้น ๆ ขึ้นมาเอง ถึงแม้ว่าจะสามารถระบุข้อผิดพลาดต่าง ๆ ได้ แต่ก็อาจมองข้ามเรื่องของ Usability ไป เนื่องจากพัฒนาขึ้นมาด้วยตนเองทำให้รู้อยู่แล้วว่าจะเข้าถึงฟีเจอร์ต่าง ๆ ได้อย่างไรบ้าง

หนึ่งในวิธีแก้ไขก็อาจจะเป็นตัวยอย่างของบริษัท Jetbrains ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนา IDE (โปรแกรมที่ใช้สำหรับพัฒนาโปรแกรม) ที่ใช้วิธีนี้เช่นกัน โดยก่อนที่จะปล่อย Stable version  ก็จะมีการสร้างโปรแกรมขึ้นมาชื่อ EAP (Early Access Program) ให้ผู้ใช้ใช้งานโปรแกรมเวอร์ชันก่อน Stable ได้ฟรี โดยแลกกับการระบุข้อผิดพลาดต่าง ๆ รวมไปถึงการให้ Feedback ในด้านต่าง ๆ ของโปรแกรม เพราะผู้ใช้งานใน EAP จะไม่มี Bias ของนักพัฒนาอย่างแน่นอน


📚 Hope you enjoy reading! 📚